เมื่อวันที่ 18 ก.ค. นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เห็นชอบให้ใช้กลไกกองทุนน้ำมันชื้อเพลิงในการรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลให้อยู่ที่ประมาณ 32 บาทต่อลิตรภายหลังจากมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 5 บาทต่อลิตรจะสิ้นสุดลงในวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 โดยแนวทางการใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อบริหารจัดการราคาน้ำมันดีเซลดังกล่าว จะดำเนินการตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2566 ต่อเนื่องไปอีกเป็นระยะเวลาหนึ่งตามสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่จะดำเนินการ ได้
การรักษาเสถียรภาพระดับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในครั้งนี้ เป็นการช่วยเหลือประชาชนไมให้เกิดผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายในยามที่เศรษฐกิจประเทศกำลังฟื้นตัว และจะมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยจะพิจารณาบริบทของปัจจัยต่างๆ อย่างรอบคอบในการบริหารเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เนื่องจากยังคงมีความเสี่ยงในตลาดน้ำมัน และกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงก็ต้องเตรียมพร้อมสภาพคล่องเพื่อรองรับความผันผวนนั้น รวมถึงต้องคำนึงถึงการบรรเทาผลกระทบต่อรายจ่ายด้านพลังงานของประชาชน
โดยปัจจุบันแม้ว่าฐานะเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะยังคงติดลบ แต่สถานะของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นหลังจากได้เงินกู้ยืมเข้ามาเติมในระบบ และสามารถเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ได้เพิ่มขึ้นจากสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกที่ผ่อนคลายลง แต่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงยังคงมีความผันผวนด้วยปัจจัยกำลังการผลิตของกลุ่มโอกเปก และความกังวลในเศรษฐกิจที่ยังคงถดถอย
โดยราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลในตลาดโลกช่วงมกราคม - มิถุนายน 2566 อยู่ที่ 98.64 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลง 29.38 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลจากช่วงสิ้นปี 2565 สำหรับฐานะเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสุทธิ วันที่ 16 กรกฎาคม 2566 ติดลบ 49,829 ล้านบาท แบ่งเป็นติดลบจากบัญชีน้ำมัน 4,316 ล้านบาท บัญชีก๊าซ LPG 45,513 ล้านบาท
รายงานข่าวจากกบน. แจ้งว่า การตรึงราคาดีเซลไม่เกิน 32 บาทต่อลิตรครั้งนี้ไม่มีการกำหนดเวลา เนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันผันผวน จึงขึ้นอยู่กับสถานะกองทุนเป็นหลัก น้ำมันลดจะสามารถตรึงได้นาน แต่หากน้ำมันขึ้นราคา เวลาการตรึงราคาก็จะสั้นลง โดยกบน.หวังให้มีการตั้งรัฐบาลใหม่โดยเร็ว เพื่อเข้ามาบริหารกองทุนน้ำมันฯ ตลาดจนมาตรการทางภาษี