เมื่อวันที่ 18 ก.ค.2566 ที่รัฐสภา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวภายหลังการประชุมวิป 3 ฝ่ายว่า ในที่ประชุม มีการถกเถียงถึงข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 41 จะเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดต จากพรรก้าวไกล โหวตรอบสองได้หรือไม่ ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าไม่สามารถเสนอได้ เพราะติดเงื่อนไขข้อบังคับฯ ข้อที่ 41 ขณะที่อีกฝ่ายเห็นว่าไม่ขัดข้อบังคับ ที่ประชุมไม่สามารถสรุปหาทางออกได้ จึงขอให้ประธานรัฐสภาหาข้อวินิจฉัยว่า มีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ หรือถ้าจะให้มีการโหวตเลือกนายกฯ ได้จะใช้เหตุผลได้
นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ในการประชุมวันที่ 19 ก.ค. เมื่อเปิดประชุมแล้ว ตามมติ 8 พรรคร่วมรัฐบาลจะเสนอชื่อนายพิธา ให้โหวตนายกฯอีกรอบ โดยพรรคเพื่อไทย จะเป็นผู้เสนอชื่อนายพิธา แต่ถ้ามีคนเห็นต่าง อยากให้ญัตติดังกล่าวตกไป ก็ต้องมาอภิปรายถกเถียงกัน สุดท้ายต้องใช้วิธีการลงคะแนนตัดสิน ถ้าญัตติดังกล่าวตกก็ถือว่าจบไป ต้องไปนัดประชุมรอบใหม่
ผู้สื่อข่าวถามว่กรณีถ้าเสนอชื่อนายพิธา โหวตเป็นนายกฯรอบสาม จะต้องได้คะแนนในรอบสองเท่าไหร่ ถึงจะเสนอชื่อในรอบต่อไปได้ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า กรณีนี้ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล เคยคุยกัน โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ยกตัวอย่างถึงการโหวตรอบสามว่า จะต้องมีแนวโน้มของสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ยังไม่ไดข้อสรุป
ขณะที่นายพิธาไปบอกว่าควรมีคะแนนเพิ่มขี้น 10 เปอร์เซ็นต์ หรือ 344-345 คะแนน แต่ถ้าดูคำว่า 10 เปอร์เซ็นต์ แล้วหมายความว่าจะต้องได้เพิ่มอีก 32 คะแนน เมื่อไปร่วมกับ 324 เสียงเดิมจากรอบแรก ก็จะต้องได้คะแนนถึง 356-360 ถึงจะเป็นไปตามเงื่อนไขที่นายพิธา พูดเอาไว้
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า พรรคเพื่อไทย เคารพพรรคที่ได้คะแนนเสียงอันดับหนึ่ง แต่พรรคก้าวไกลยังไม่ประกาศ อย่างเป็นทางการในการให้พรรคอันดับสอง ขึ้นมาจัดตั้งรัฐบาล เพื่อไทยจะมาทึกทักว่าเป็นโอกาสของตัวเองไม่ได้ โดยความชอบธรรมจะต้องรอให้มีแถลงการณ์จากพรรคอันดับหนึ่ง มอบให้พรรคอันดับสอง เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล พรรคเพื่อไทยจึงจะบอกได้ว่าเสนอชื่อใครเป็นแคนดิเดตนายกฯ
เมื่อถามว่าพรรคเพื่อไทยต้องการเวลาหาเสียงสนับสนุนนานเท่าไหร่ ในการตั้งรัฐบาลหากชื่อของนายพิธา ยังไม่ผ่านการโหวตในรอบสอง นพ.ชลน่าน กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยมีความพร้อม แต่ต้องรอให้ผ่านกระบวนการภายในพรรคฯก่อน
ถ้าพรรคเพื่อไทย ได้เป็นแกนนำตั้งรัฐบาล หลายเรื่องจะต้องเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเนื้อหาสาระของ เอ็มโอยู ทั้ง 8 พรรค หลายเรื่องจะต้องเปลี่ยนแปลง แต่ไม่ใช่การยกเลิก เช่น ชื่อของนายพิธา จะต้องเปลี่ยนไปเป็นใคร การเติมเสียงพรรคที่ 9 พรรคที่ 10 การหาเสียง ส.ว.มาสนับสนุนเพิ่มเติม ถ้าประธานรัฐสภา จะบรรจุญัตติเลือกนายกฯ ในสัปดาห์หน้า เราก็มีความพร้อม
ผู้สื่อข่าวถามว่า ส.ว.ยังยืนหลักการว่าถ้ายังมีพรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาลก็จะไม่โหวตให้พรรคเพื่อไทย นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เป็นแค่สถานการณ์สมมติ การจะได้ 375 เสียง จะต้องดูว่า 8 พรรคร่วมเห็นอย่างไร และพรรคเพื่อไทยมีสิทธิ์ปรับเปลี่ยนอะไรได้บ้าง รวมถึงการฟังเสียงของส.ว. องค์ประกอบเหล่านี้จะต้องนำมาประกอบกัน ดังนั้น อย่าเพิ่งไปคาดการณ์อะไรถึงขั้นนั้น