เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 31 มกราคม องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นัดแถลงด้วยวาจา ประชุมปรึกษาหารือ ลงมติกรณีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความอดีตพระพุทธะอิสระ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่าการกระทำของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลขณะนั้น ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 1 และ พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 2 เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ. … เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งและยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่
จากนั้น เวลา 14.15 น. องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย ทั้งนี้ ก่อนเริ่มอ่าน ศาลรัฐธรรมนูญ ชี้แจงว่า ศาลรัฐธรรมนูญ รับคดีไว้พิจารณาเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายทราบดีว่าการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญใช้ระบบไต่สวน ศาลมีอำนาจค้นหาความจริงไม่ว่าจะเป็นคุณหรือโทษแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ และการวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานได้ทุกประการ ศาลได้ให้ผู้ถูกร้องชี้แจง โดยผู้ถูกร้องขอขยายระยะเวลา 2 ครั้ง ศาลได้ดำเนินกระบวนการพิจารณารวม 62 ครั้ง รับฟังความคิดเห็นของนักวิชาการ
พยานผู้เชี่ยวชาญที่มีความเป็นกลาง 4 ท่าน ได้แก่ 1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รณกรณ์ บุญมี 2. ศาสตราจารย์กิตติคุณวิทิต มันตาภรณ์ 3.รองศาสตราจารย์ดร.ภูริ ฟูวงศ์เจริญ 4.รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภมิตร ปิติพัฒน์ นอกจากนี้ศาลได้รับฟังข้อมูลจากผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานศาลยุติธรรม ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาตลิ่งชัน ศาลจังหวัดนนทบุรี และศาลจังหวัดสมุทรปราการ จึงเป็นการไต่สวนรับฟังข้อมูลรอบด้าน และให้คู่กรณีแถลงปิดคดี เมื่อครบถ้วนจึงได้มีคำวินิจฉัย โดย ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 และใช้การแก้ไขมาตรา 112 รณรงค์หาเสียง เป็นนโยบายพรรค เป็นการกระทำที่ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยเห็นว่า
มาตรา 112 แม้เป็นประมวลกฎหมายอาญา แต่ก็มีศักดิ์ทางกฎหมายในเรื่องของความมั่นคงแห่งรัฐ การแก้ไขเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐ ต้องคุ้มครองความมั่นคงราชอาณาจักร และการกระทำความผิดต่อพระมหากษัตริย์ ย่อมเป้นการกระทำผิดต่อความมั่นคงต่อรัฐด้วย โดยมีจุดมุ่งหมายต้องการให้ไม่มีความสำคัญ และไม่ให้ถือว่าเป็นความผิดต่อความมั่นคงต่อประเทศ มุ่งหมายแยกสถาบันกษัตริย์ และความเป็นชาติไทยออกจากกัน กระทบความมั่นคงของรัฐ อย่างมีความสำคัญ
นอกจากนี้ การที่เสนอแก้ไขมาตรา 112 ในการหาเสียง เป็นการใช้นโยบายทางการเมือง เป็นการดึงสถาบันลงมา หวังผลชนะการเลือกตั้ง ให้สถาบันเป็นคู่ขัดแย้ง กลายเป็นฝ่ายรณรงค์ทางการเมือง ไม่คำนึงหลักการสำคัญในการปกครอง ที่สถาบันอยู่เหนือการเมือง เป็นกลางทางการเมือง การเสนอแก้ไข ม.112 ดังกล่าวมีเจตนาเซาะกร่อน บ่อนทำลายสถาบันกษัตริย์ ให้เสื่อมทรามลง การใช้เสรีภาพต้องไม่ขัดศีลธรรมอันดี ต้องสอดคล้องกับสิทธิของบุคคลทางการเมือง ไม่กระทบความมั่นคงปลอดภัยของชาติ ไม่กระทบความสงบเรียบร้อย และไม่กระทบสิทธิเสรีภาพของคนอื่น เมื่อฟังได้ว่ามีการเรียกร้องให้ทำลายการปกครองประชาธิปไตยที่มีพระหากษัตริย์เป็นประมุข ผ่านการ ซ่อนเร่นการแก้ไขมาตรา 112 มีกระบวนการหลายช่วงติดต่อกัน หากปล่อยให้กระทำการดังกล่าวต่อไป ย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่จะล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย จึงเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครอง วรรค 1 ให้เลิกการกะรทำ จึงวินิจฉัยว่าทั้งสอง เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครอง และสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกกระทำ การพูด การเขียน การแสดงออกวิธีอื่นให้ยกเลิก ม.112 และไม่ให้แก้ไข ม.112 ที่ไม่ใช่กระบวนการนิติบัญญัติโดยชอบ